การจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นหลักต่อความสามารถในการคิดแก้ปัญหาและพฤติกรรมกลุ่มของเด็กปฐมวัย
วันที่โพสต์: Jul 04, 2016 1:13:36 PM
การจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นหลักต่อความสามารถในการคิดแก้ปัญหาและพฤติกรรมกลุ่มของเด็กปฐมวัย1. ชื่อผลงาน Best Practice : เรื่อง การจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นหลักต่อความสามารถในการคิดแก้ปัญหาและพฤติกรรมกลุ่มของเด็กปฐมวัย
2. ชื่อผู้นำเสนอผลงาน Best Practice นางลักขณา เพ็งนิล ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ
ที่อยู่... โรงเรียนบ้านศรีเชียงใหม่ อำเภอ ศรีเชียงใหม่ จังหวัด หนองคาย
อีเมลล์... LukkanaPengnil@hotmail.com
3. หลักการเหตุผล/ความเป็นผล :
เด็กปฐมวัยวัยเป็นวัยที่มีความสำคัญที่สุดที่สุดสำหรับการพัฒนาชีวิตมนุษย์ สิ่งที่เด็กได้รับประสบการณ์ การเรียนรู้ที่เหมาะสมจึงมีความสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาการให้เด็กอย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์และเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพในอนาคต (เยาวพา เดชะคุปต์ 2542 : บทนำ)
ผู้เขียนเป็นครูผู้สอนเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 2 ตั้งแต่ปีการศึกษา 2529 เป็นต้นมา เป็นเวลา 26 ปี พบปัญหาและพฤติกรรมของเด็กมากมาย จึงพยายามแก้ไขมาและช่วยเหลือเด็กโดยตลอด และในปี 2551 ได้รับคัดเลือกให้เข้ารับการอบรมครูการศึกษาพิเศษที่ศูนย์ศึกษาพิเศษ จังหวัดอุดรธานี และศูนย์การศึกษาพิเศษจังหวัดขอนแก่น ได้รับความรู้และประสบการณ์มากมาย หาวิธีการช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาเด็กที่มีปัญหาด้านการเรียนรู้เด็กด้อยโอกาส เด็กเรียนร่วมมาโดยตลอด จึงได้ศึกษา แนวคิด ทฤษฏี ของนักการศึกษาหลายท่านจึง ได้รับแรงบันดาลใจ ในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นหลักต่อความสามารถในการคิดแก้ปัญหาและพฤติกรรมกลุ่มเด็กปฐมวัย
3.1 เกิดจากปัญหาที่ตัวเด็ก/เศรษฐกิจครอบครัว เด็กส่วนมากมาจากครอบครัวยากจน หาเช้ากินค่ำ พ่อแม่ไม่มีเวลาดูแลเด็ก ทำให้เด็กขาดความอบอุ่น ไม่ค่อยร่าเริง แจ่มใส เฉื่อยชา ขี้อาย กลัวคน ไม่กล้าสนทนาโต้ตอบ ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ไม่ค่อยทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน ขาดทักษะการฟัง การพูด ขาดความมั่นใจในตนเอง จากการได้ศึกษาเข้ารับการอบรมจึงได้นำความรู้เหล่านั้นมาพัฒนาเด็กจนทำให้เกิดผลงานที่ภาคภูมิใจมากมาย
3.2 เกิดจากผลงานที่ภาคภูมิใจ ด้านตัวเด็ก ได้รับรางวัลต่างๆมากมาย ขอยกตัวอย่างเฉพาะด้านวิชาการ เช่น รางวัลเหรียญทอง การสร้างภาพปะติด การปั้นดินน้ำมัน ระดับเครือข่าย และระดับเขตพื้นที่ การศึกษาประถมศึกษา ซึ่งทั้งสองกิจกรรมเป็นกิจกรรม การทำงานกลุ่ม
ด้านสถานศึกษา ได้รับคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนดีในตำบล ให้เป็นโรงเรียนนำร่อง บ้านวิทยาศาสตร์น้อยประเทศไทย ได้รับคัดเลือกให้เป็นห้องเรียนคุณภาพของระดับปฐมวัย (สพป.นค.1)โรงเรียนแกนนำเรียนร่วม (ศูนย์การศึกษาพิเศษจังหวัดหนองคาย)
ด้านครูผู้สอน ได้รับคัดเลือกเป็น Master teacher ระดับปฐมวัย ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหนองคายเขต 1 ในโครงการของศูนย์เครือข่ายและสื่อสารวิทยากรแกนนำ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานร่วมกับ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันอุดมศึกษาหลักของประเทศ เพื่อพัฒนาครูทั้งระบบ ประจำปีการศึกษา 2554 – 2555 ได้รับคัดเลือกเข้ารับรางวัล หนึ่งแสนครูดี ครูดีในดวงใจระดับเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหนองคายเขต 1 ได้รับคัดเลือกให้เป็นครูต้นแบบที่มีความเข้มแข็งในการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ ได้รับรางวัลครูเกียรติยศ (Teacher Awards) สาขาปฐมวัย ได้รับรางวัลครูดีเด่น ครูตัวอย่าง ด้วยแรงบันดาลใจดังกล่าว ทำให้ผู้เขียนพัฒนาการจัดประสบการณ์ การเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นหลัก เพื่อพัฒนาความสามารถในการคิดแก้ปัญหา และพฤติกรรมกลุ่มของเด็กปฐมวัย ให้มีความสามารถในการแก้ไขปัญหา เรียนรู้และทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
การจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นหลัก หมายถึงการจัดกิจกรรม การเรียนรู้โดยใช้สถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันและใกล้ตัวเด็กเป็นตัวกระตุ้นให้เด็กใช้ความรู้ ความคิด และประสบการณ์การตัดสินใจในการแก้ปัญหาโดยให้เด็กเรียนรู้ร่วมกันเป็นกลุ่มย่อย และมีการเรียนรู้ด้วยตนเอง จากแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย เช่น จากครู ผู้ปกครอง ครูพี่เลี้ยง พี่นักเรียน นักการภารโรง แม่ค้า มุมประสบการณ์ต่างๆในห้องเรียน ครูมีหน้าที่อำนวยความสะดวก จัดแหล่งเรียนรู้ให้กับเด็ก
4. วัตถุประสงค์ :
4.1 เพื่อพัฒนาความสามารถในการคิดแก้ปัญหา ด้าน ภาษาการพูด การอ่าน การเขียน
4.2 เพื่อพัฒนาพฤติกรรมการทำงานกลุ่ม
4.3 เพื่อส่งเสริมให้เด็กมีนิสัยรักการอ่าน การแสวงหาความรู้
5. แนวคิด/ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง
การจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นหลัก ได้ยึดทฤษฎีดังนี้
5.1 ทฤษฎีของ บรูเนอร์ กล่าวว่า การสอนให้ผุ้เรียนได้เรียนรู้โดยการค้นพบด้วยตนเองเป็นการเพิ่มสติปัญญาให้กับตนเอง ทำให้การเรียนรู้มีความหมายช่วยให้มีความจำดีกว่าวิธีอื่น
5.2 ทฤษฎีของ ไวก๊อตกี้ กล่าวว่าเด็กจะเกิดการเรียนรู้ พัฒนาสติปัญญา และทัศนคติขึ้น เมื่อมี ปฏิสัมพันธ์การทำงานร่วมกับผู้อื่น
6. การดำเนินงาน/กระบวนการ/วิธีการปฏิบัติ
1. ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน
1.1 เตรียมเด็กให้พร้อม สร้างบรรยากาศให้เด็กสนใจในการทำกิจกรรม โดยใช้เพลง คำคล้องจอง นิทาน หุ่นมือ ภาพประกอบ ซึ่งใช้ในระยะสั้นๆ เป็นกิจกรรมที่ใช้เชื่อมโยงกับเนื้อหาสาระที่จะเรียน
1.2 ให้เด็กมีส่วนร่วมในการแสดงท่าทางประกอบ แสดงบทบาท สนทนาโต้ตอบ ซักถาม และแสดงความคิดเห็น
2. ขั้นจัดประสบการณ์
2.1 ครูเสนอสถานการณ์ปัญหา เช่น ของจริง ภาพ วีดีโอ หรือศึกษานอกห้องเรียน พร้อมกับสนทนาเกี่ยวกับสถานการณ์นั้นๆ
2.2 แบ่งกลุ่มเด็กกลุ่มละ 5-6 คนให้เด็กตั้งชื่อกลุ่ม ครูบันทึกชื่อกลุ่มไว้บนกระดานดำ จากนั้นให้เด็ก แต่ละกลุ่มตั้งสมมุติฐานร่วมกัน สนทนาและวิเคราะห์ปัญหาจากสถานการณ์สถานการณ์ปัญหา ตั้งคำถามในสิ่งที่อยากรู้จากสถานการณ์ปัญหาแล้วแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์เดิมในกลุ่ม
2.3 ครูเชื่อมโยงความรู้เดิมของเด็กกับความรู้ใหม่และหาแนวทางการแก้ปัญหาให้มากที่สุดจากแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย โดยการสอบถามจากผู้รู้ หรือ จากบุคคลต่างๆในโรงเรียน เช่น ครู พี่เลี้ยง นักเรียนชั้นประถม นักการภารโรง แม่ค้า ผู้ปกครอง หรือบุคคลต่างๆในชุมชน และศึกษาจากมุมประสบการณ์ ในห้องเรียน แหล่งเรียนรู้ในโรงเรียนเช่น ห้องสมุด ห้องพยาบาล หรือห้องพิเศษต่างๆในโรงเรียน หรือจากการไปศึกษานอกสถานที่ โดยครูมีบทบาทในการใช้คำถามกระตุ้นและสนับสนุนให้เด็กทุกคนได้ระดมความคิดในกลุ่ม
2.4 ครูส่งเสริมให้เด็กยอมรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มและเป็นผู้อำนวยความสะดวก ช่วยเหลือ จัดมุมประสบการณ์ แหล่งเรียนรู้ ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหา
2.5 ให้เด็กแต่ละกลุ่ม นำคำตอบที่ได้ โดยการวาดภาพแล้ว มานำเสนอกลุ่มใหญ่ แล้วช่วยกันคิดแก้ปัญหาร่วม กัน ครูบันทึกการแก้ปัญหาของเด็ก และสนทนากับเด็กให้เห็นแนวทางแก้ปัญหา โดยเด็กตัดสินใจเลือกการแก้ปัญหาที่เหมาะสมที่สุด
3. ประเมินผล
3.1 เป็นการประเมินผลการเรียนรู้ของตนเอง เด็กแต่ละกลุ่ม ประเมินผลการแก้ปัญหาที่กลุ่มเสนอพร้อมทั้งบอกเหตุผลประกอบการประเมิน ดี หรือไม่ เพราะเหตุใด
3.2. ครูสังเกตพฤติกรรมกลุ่มแล้วบันทึกลงในแบบสังเกตพฤติกรรมกลุ่ม
4. ขั้นสรุปผล
เป็นการสรุปผลการเรียนรู้ที่ได้มาใหม่ โดยเด็กและครูร่วมกันสรุปผลการเรียนรู้จากการแก้ไขปัญหาของเด็ก ครูให้ความรู้เพิ่มเติมในส่วนที่ขาดหายไปให้ถูกต้อง เชื่อมโยงนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน
สรุปขั้นตอนการดำเนินงาน
1. ศึกษา/อบรม/ดูงาน (เช่น เข้าอบรมกับเขตพื้นที่เรื่องการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นหลัก ศึกษาด้วยตนเองจากอินเตอร์เน็ต ฯลฯ)
2. สร้างนวัตกรรม โดยการนำปัญหาจากสถานการณ์ในชีวิตประจำวันของเด็ก และเป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวเด็ก วาดภาพประกอบสถานการณ์ คัดเลือกเพลง คำคล้องจอง นิทานปริศนาคำทายที่น่าสนใจ สอดคล้องกับ เนื้อหา และสถานการณ์ที่กำหนด
3. นำไปใช้จริงกับเด็ก (เช่น กาจัดประสบการณ์แบบ PBL มี 4 ขั้นตอน ทดลองใช้กับเด็ก
และปรับปรุงแก้ไขไปพร้อมๆกัน
4. ประเมิน (เช่น จากการสังเกต จากการทดสอบ)
5. รายงานผลให้ผู้บริหาร/ผู้ที่เกี่ยวข้องรับทราบ
6. จัดทำเป็น Best Practice เพื่อเผลแพร่ต่อสาธารณะชน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อเผยแพร่ และขยายผลทุกครั้งที่มีโอกาส
7.แผนการดำเนินงาน/ระยะเวลาในการดำเนินงาน
ที่ แผนการดำเนินงาน ระยะเวลาในการดำเนินงาน
1. จัดทำโครงการ กันยายน 2554
2. ประชุมชี้แจง/มอบหมายงาน กันยายน 2554
3. ดำเนินการตามโครงการ
- จัดทำ นวัตกรรม การสอนแบบ PBL
- สร้างสถานการณ์ปัญหาประกอบภาพจำนวน 8 หน่วยการเรียน 8 สัปดาห์ละ 4 สถานการณ์
- นำนวัตกรรมไปใช้กับเด็ก
- ประเมินผลการดำเนินการ พฤศจิกายน - กุมภาพันธ์ 2555
4. สรุปผล/รายงานผล กุมภาพันธ์ 2555
8. ผลการปฏิบัติงาน
8.1 เด็กมีความสามารถในการคิดแก้ปัญหา คิดเป็นร้อยละ 89.06
8.2 เด็กมีความสามารถในการทำงานกลุ่ม คิดเป็นร้อยละ 88.85
9. ปัจจัยที่ทำให้วิธีการประสบผลสำเร็จ
9.1 สื่อ/วัสดุ/อุปกรณ์ ต้องเตรียมให้พร้อมและเพียงพอต่อจำนวนเด็ก
9.2 ครูต้องศึกษาเรื่องเทคนิคการสอนแบบ PBL ให้เข้าใจ
9.3 ครูต้องเต็มใจ ใจรัก ใจเย็น เสียสละ และอดทน ในการสอนและการพาเด็กทำกิจกรรม
9.4 งบประมาณสนับสนุน
10. บทเรียนที่ได้รับ (ผลที่คาดว่าจะได้รับ)
10.1 บทเรียนที่เด็กได้รับ
10.1.1 เด็กมีความสามารถในการคิดแก้ปัญหาเหมาะสมกับวัย (มาตรฐานที่ 10)
10.1.2 เด็กใช้ภาษาสื่อสารได้เหมาะสมกับวัย ( มาตรฐานที่ 9 )
ตัวบ่งชี้ที่ 1 สนทนาโต้ตอบ/เล่าเรื่องให้ผู้อื่นเข้าใจได้
ตัวบ่งชี้ที่ 2 อ่าน เขียนภาพและสัญลักษณ์ได้ ( เช่น เปิดหนังสือทำท่าอ่านหนังสือพร้องทั้งเล่าเรื่องไปด้วยได้ เขียนข้อความที่ลอกแบบหรือจำมาได้ )
10.1.3 เด็กๆมีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ( มาตรฐานที่ 11 )
ตัวบ่งชี้ที่ 3 เล่าเรื่องราวหรือนิทานตามความคิดของตนเอง ( เช่น การนำเสนอผลงาน การเล่าเรื่องราวตามจินตนาการได้ )
10.1.4 เด็กๆมีจินตนาการที่ดีต่อการเรียนรู้ และมีทักษะในการแสวงหาความรู้
(มาตรฐานที่ 12)
10.2 บทเรียนที่ครูได้รับ
10.2.1 สถานการณ์ปัญหาประกอบภาพ
10.2.2 แบบทดสอบวัดความสามารถในการคิดแก้ปัญหา
10.2.3 ครูมีสื่อที่ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ตามจุดประสงค์ที่วางไว้
11. การเผยแพร่ขยายผล
11.1 ในปี 2554- 2555 ได้นำไปขยายผลโดยได้รับคำสั่งให้เป็นวิทยากรในการอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับคณะครูปฐมวัย ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหนองคายเขต 1 คณะครูผู้สอนเด็กปฐมวัยของโรงเรียนเอกชนในจังหวัดหนองคาย คณะครูผู้สอน/พี่เลี้ยงเด็กของสำนักงานสาธารณะสุขจังหวัดหนองคาย นักศึกษา “ภาคพิเศษ เอกปฐมวัย” ของมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี และคณะครูผู้สนใจในจังหวัดและต่างจังหวัดที่มาศึกษาดูงานที่โรงเรียนอยู่เนืองๆ เป็นต้น
11.2 ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในงานแสดง Best Practice ของครูผู้สอนเด็กปฐมวัย ทั้ง 22 เครือข่าย เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2555 ที่โรงเรียนบ้านศรเชียงใหม่ อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ในงานได้เผยแพร่ผลงานให้กับผู้สนใจ และได้รับการคัดเลือกเป็น Best Practice ไปนำเสนอในระดับเขตพื้นที่การศึกษาด้วย
11.3ได้ผลเผยแพร่ นวัตกรรมการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นหลัก ทาง Web แมงมุม ( KM ) สพป.นค.1
11.4 นำเสนอผลงานทางวิชาการที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี